“ก็เคยสัญญา เป็นมั่นเป็นหมาย” แหม่ เริ่มต้นบทความด้วยเพลงของพี่อัสนี-วสันต์ กันเลยทีเดียว ตามที่บอกไว้ใน EP. แรกว่าเราจะพูดถึงระบบที่อยู่เบื้องหลังบิทคอยน์ หรือที่เรียกกันว่า “บล็อกเชน (Blockchain)” กันในตอนที่ 2 และเช่นเคยเราจะทำให้มันเข้าใจง่ายมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเจอกับศัพท์เทคนิคบ้างนะ

ถึงแม้บล็อกเชนจะเข้าใจยากกว่าบิทคอยน์ แต่ก็ไม่ได้ยากจนเกินไป เราจะดำเนินบทความนี้ด้วยการตั้งคำถามง่าย ๆ แบบที่คนทั่วไปสงสัย เพื่อค่อย ๆ คลี่คลายความซับซ้อนของบล็อกเชนออกมา งั้นเรามาเริ่ม ตอนที่ 2 กันเลยดีกว่า (ทำใจไว้ก่อนนะว่ามันค่อนข้างยาว)

  • “บิทคอยน์กับบล็อกเชนคืออย่างเดียวกันรึเปล่า?”

ใครที่กำลังคิดแบบนี้อยู่ขอให้เลิกคิด ณ บัดนาว บิทคอยน์กับบล็อกเชนไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ดังนั้นขอให้ทุกคนแยกทั้งสองอย่างนี้ออกจากกันก่อน บิทคอยน์คือเงินดิจิตอล ส่วนบล็อกเชนก็คือระบบที่อยู่เบื้องหลังบิทคอยน์ เข้าใจตรงกันนะ!

  • “แล้วที่บอกว่าบล็อกเชนคือระบบที่อยู่เบื้องหลังบิทคอยน์ ตกลงมันคืออะไรกันแน่?”

เอาอย่างนี้ก่อน ปกติเวลาเราต้องการทำธุรกรรมทางการเงิน เราจะทำผ่านตัวกลางซึ่งก็คือธนาคารที่ทำหน้าที่เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ธนาคารจะเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องและดูแลการใช้จ่ายเงินของทุกบัญชีแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเราเรียกระบบแบบนี้ว่าเป็นระบบแบบรวมศูนย์

ทีนี้มันก็มีคนคิดว่า ถึงแม้ธนาคารจะไว้ใจได้ก็จริง แต่ก็เก็บค่าธรรมเนียมแพง แล้วถ้าหากวันหนึ่งธนาคารเกิดเจ๊งขึ้นมา เงินของเราที่อยู่ในนั้นจะเป็นยังไง เรามาหาวิธีที่ไม่ต้องพึ่งธนาคารในการซื้อขายแลกเปลี่ยน และทำให้ผู้ใช้งานก็มีความปลอดภัยในทรัพย์สินด้วยดีกว่า นี่เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เรียกว่า “บล็อกเชน (Blockchain)”

บล็อกเชน จึงเป็นระบบฐานข้อมูลที่ตัดคนกลางออกไป แล้วให้อำนาจแก่ผู้ใช้งานทุกคนในการตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมทางการเงินกันเอง หมายความว่า แต่เดิมที่ธนาคารจะเป็นผู้ครอบครองรายการเดินบัญชีแค่คนเดียว (Centralized Ledger)  บล็อกเชนเลือกที่จะมอบรายการเดินบัญชีแก่ผู้ใช้งานทุกคน (Distributed Ledger) และรายการเดินบัญชีนี้จะอัพเดทตัวมันเองพร้อมกับของคนอื่นตลอดเวลา ทุกคนสามารถรับรู้ที่มาที่ไปของเงินในบัญชีนั้น ๆ ได้ตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงล่าสุด

  • “อ๋อ…ง่าย ๆ ก็คือ บล็อกเชนทำให้ฐานข้อมูลอยู่ในมือของผู้ใช้งานทุกคน ถูกมั้ย? แล้วมันจะทำงานยังไงในเมื่อไม่มีคนกลาง?”

ถูกต้อง และในเมื่อบล็อกเชนตัดคนกลางเจ้าปัญหาออกไปแล้ว คนที่จะขับเคลื่อนระบบก็คือผู้ใช้งานด้วยกันเองนี่แหละ โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้งานจะมีสถานะเป็นโหนด (Node) หรือก็คือฐานข้อมูลบล็อกเชนที่อยู่ในเครื่องของเรา แต่ละโหนดจะเชื่อมโยงกันเพื่อยืนยันความถูกต้องของข้อมูล ยกตัวอย่างเช่น

บอสอัพ โซลูชั่นโอนเงินจำนวน 4 บิทคอยน์ ให้แก่ลำไย ไหทองคำ เป็นค่าเล่นคอนเสิร์ต

เริ่มแรก ลำไย ไหทองคำสามารถดูได้ว่าบอสอัพฯมีเงิน 4 บิทคอยน์จริงหรือเปล่า ด้วยการตรวจสอบบัญชีของบอสอัพฯก่อน เสร็จแล้วก็ให้บอสอัพฯโอนเงินมายังบัญชีของตัวเอง เมื่อทำการโอนเงินเสร็จ (ระหว่างนี้เงินจะยังไม่ถูกย้ายข้ามบัญชี) ข้อมูลการโอนเงินก็จะถูกส่งไปยังโหนดอื่น เพื่อยืนยันความถูกต้องของการโอนครั้งนี้ และเมื่อมีโหนดอื่น ๆ ขานรับอย่างน้อย 6 โหนด ก็จะถือว่าการโอนนี้สำเร็จ

สำหรับการบันทึกข้อมูลของบล็อกเชนนั้น เมื่อมีการทำธุรกรรมทางการเงินเกิดขึ้น ข้อมูลต่าง ๆ จะถูกบรรจุใส่กล่องหรือบล็อก ซึ่งเจ้ากล่องตัวนี้จะสร้างตัวมันเองทุก ๆ 10 นาทีในเครือข่ายของบล็อกเชน ดังนั้นธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง 10 นาทีนั้นทั้งหมด จะถูกจับยัดลงกล่องดังกล่าว เมื่อครบ 10 นาที ระบบก็จะสร้างกล่องใหม่ไปเรื่อย ๆ โดยเชื่อมโยงกับกล่องก่อนหน้า นี่จึงเป็นที่มาของ บล็อกเชน หรือ กล่องที่ร้อยเรียงกันเป็นลูกโซ่

  • “ตั้งสติแป๊บ สรุปคือ บล็อกเชนทำงานโดยอาศัยความร่วมมือจากโหนดอื่น ๆ เพื่อยืนยันความถูกต้องของธุรกรรม และบันทึกข้อมูลลงกล่องในระบบที่สร้างตัวมันเองทุก 10 นาทีนั่นสินะ แล้วเรื่องความปลอดภัยล่ะ ถ้ามีคนแอบเล่นลูกไม้ เช่น แก้ไขข้อมูล หรือ โอนเงินก้อนเดียวกันเข้า 2 บัญชี จะเป็นยังไง?”

อย่างที่บอกไปแล้วว่า โหนดของเราเชื่อมต่อกับโหนดของคนอื่น เราจึงสามารถตรวจสอบได้ว่าบัญชีของคู่ค้ามีเงินจริงหรือไม่ แล้วเงินนั้นมาจากไหน ได้มาอย่างไร การที่เขาจะแก้ไขบัญชีตัวเองเพื่อหลอกคนอื่นจึงเป็นไปได้ยาก หรือจะถึงขั้นแก้ไขข้อมูลที่อยู่ในกล่องก็ยิ่งแทบเป็นไปไม่ได้ใหญ่ เพราะแต่ละกล่องเชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่ เช่น จะแก้ไขกล่อง A ก็ต้องแก้ไขกล่องที่อยู่ก่อนหน้า A ที่มีจำนวนมหาศาลด้วย ไหนจะกล่องใหม่ที่มาต่อท้ายกล่อง A อีก มันจึงทำได้ยากมาก (ก ไก่ล้านตัว)

ส่วนเรื่องการโอนเงินก้อนเดียวกันเข้า 2 บัญชี (Double Spending) อย่างที่บอกไปว่าธุรกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นภายใน 10 นาทีนั้นจะถูกบันทึกลงกล่องใบปัจจุบัน ซึ่งเงินจะยังไม่ถูกโยกย้ายจนกว่าจะเริ่มกล่องใหม่ (และมีโหนดอื่นยืนยันขั้นต่ำ 6 โหนด) สมมติว่าคู่ค้าของเรามีเงิน 10 บิทคอยน์ และโอนเงินจำนวนนั้นมาให้เรา เงินก้อนนั้นจะยังไม่ถูกโอนมาทันที ระหว่างนั้นเขาสามารถนำเงิน 10 บิทคอยน์ไปซื้ออย่างอื่นอีกก็ได้ และเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ บล็อกเชนก็จะเลือกธุรกรรมใดธุรกรรมหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเงินอาจไม่ได้ถูกโอนมายังบัญชีของเราก็ได้ วิธีป้องกันก็ง่ายนิดเดียว คือ รอให้มันสร้างกล่องใหม่ก่อน (ประมาณ 10 นาที) และดูว่าเงินถูกโอนมายังบัญชีของเรารึยัง ถ้าโอนมาแล้ว เราก็ค่อยดำเนินการส่งของ หรืออะไรก็ตามที่ตกลงกันไว้

 

  • “เท่าที่ดูแล้ว คงเป็นไปไม่ได้เลยสินะที่จะโกงบล็อกเชน ส่วนเรื่องการโอนเงินซ้อน ก็ป้องกันด้วยการรอแค่ 10 นาที”

อื้ม สำหรับตอนนี้ก็เรียกได้ว่าแทบเป็นไปไม่ได้เลย บล็อกเชนถึงได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ถึงขนาดเรียกได้ว่า บล็อกเชนอาจจจะก้าวขึ้นมาปฏิวัติวงการการเงินโลกเลยทีเดียว แต่อันที่จริงแล้วบล็อกเชนสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง แต่ในที่นี้เราพูดถึงมิติทางการเงินเพียงอย่างเดียว

  • “ขอสั้น ๆ บล็อกเชนมันดียังไง”

 – แก้ไขไม่ได้ (Immutable) : การแก้ไขข้อมูลที่มีคนหลายร้อยล้านคนถืออยู่ หรือแงะกล่องที่มีจำนวนเป็นอนันต์เป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย

-มีความโปร่งใส (Transparency) : ทุกคนสามารถตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของคู่ค้าได้ด้วยตัวเองโดยเชื่อมโยงกับโหนดอื่น ๆ เพื่อช่วยยืนความถูกต้องของข้อมูล

-พร้อมใช้งานตลอดเวลา (Availability) : ถ้าเซิร์ฟเวอร์ของธนาคารล่ม ระบบของธนาคารก็จะใช้งานไม่ได้ไปเลย แต่กับบล็อกเชนที่ทุกคนมีฐานข้อมูลหมด แม้จะล่มไปบางส่วน ก็ยังสามารถใช้งานได้

  • “โอเคน่าสนใจดี แล้วเรื่องการหาเงินบิทคอยน์ล่ะ เมื่อไหร่จะบอก รออยู่เนี่ย!”

ใจเย็น อย่าพึ่งหัวร้อนดิ สำหรับตอนต่อไปเราจะพูดถึงสิ่งที่หลายคนอยากรู้กันมาก นั่นก็คือ การขุดบิทคอยน์ (Bitcoin Mining) เราจะมาดูกันว่ามันทำงานอย่างไร? ใช้อุปกรณ์และโปรแกรมอะไรบ้าง? มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน? และคุ้มค่าต่อการลงทุนไหม? อย่าลืมติดตามตอนต่อไปกันนะ

_______________________________________________________________________________

อ่านซีรี่ย์ทั้งหมด
EP.1 บิทคอยน์คืออะไร?
EP.2 บล็อกเชนคืออะไร?
EP.3 การขุดบิทคอยน์คืออะไร?
EP.4 อีเธอเรียมคืออะไร?

Recent Posts
Contact Us

We're not around right now. But you can send us an email and we'll get back to you, asap.

Start typing and press Enter to search