“ซิลิคอนวัลเลย์ คือ ดินแดนอันเป็นสรวงสวรรค์ของวงการเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพในระดับโลก”

คำกล่าวนี้ไม่ใช่เรื่องเกินจริงแม้แต่น้อย เพราะที่นี่เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ในอุดมคติเลยทีเดียว เนื่องจากเป็นที่รวมตัวของคนระดับหัวกะทิด้าน IT ของโลก นักลงทุนกระเป๋าหนัก บริษัทชั้นนำเลื่องชื่อ และระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการทำงานของคนรุ่นใหม่ ด้วยความสมบูรณ์แบบดังที่กล่าวมา คนจากทุกสารทิศจึงดิ้นรนขวนขวายเพื่อมาทำงานอยู่ที่ให้ได้

หลายคนคงสงสัยแล้วใช่ไหมว่า เฮ้ย! ที่นี่มันอยู่ส่วนไหนของโลกนะ?

ซิลิคอนวัลเลย์ เป็นบริเวณที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของพื้นที่อ่าวซานฟรานซิสโก หรือเบย์แอเรีย ทางเหนือของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) อันเป็นแหล่งผลิตบุคคลากรที่สำคัญให้กับซิลิคอนวัลเลย์ โดยชื่อนี้มาจากการรวมกันของคำสองคำ คือ “Silicon” และ “Valley” คำว่า Silicon มาจากแร่ซิลิคอนที่ใช้สร้างชิ้นส่วนของคอมพิวเตอร์ ซึ่งที่นี่ถือเป็นแหล่งทรัพยากรซิลิคอนที่สำคัญ ส่วนคำว่า Valley ที่แปลว่าหุบเขา มาจากหุบเขาซานตา คลาร่า (Santa Clara Valley) ที่อยู่ในแถบนี้

กว่าจะมาเป็นซิลิคอนวัลเลย์…

ประวัติความเป็นมาของซิลิคอนวัลเลย์สามารถย้อนกลับไปได้ถึงปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งถ้าเล่าตั้งแต่เริ่มแรกเกรงว่าบทความนี้คงจะยืดยาวเกินไป เอาเป็นว่าที่นี่เริ่มกลายเป็นดินแดนแห่งเทคโนโลยีก็ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

ปี 1939 มีหนุ่มไฟแรง 2 คนที่ชื่อวิลเลียม ฮิวเล็ตต์ (William Hewlett) และเดวิด แพคเกิร์ด (David Packard) มาก่อตั้งบริษัท Hewlett-Packard หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “HP” อยู่ที่นี่ ซึ่งแต่ก่อน HP ไม่ได้ทำเครื่องปรินท์นะ แต่ทำเกี่ยวกับเครื่องแสดงคลื่นกระแสไฟฟ้า เรดาห์ และเครื่องยิงปืนใหญ่ (FYI: ปี 1939 เป็นปีแรกของสงครามโลกครั้งที่ 2 และสิ้นสุดในปี 1945)

และในปี 1956 วิลเลียม ช็อกลีย์ (William Shockley) ได้ตั้งบริษัทที่ชื่อว่า Shockley Semiconductor Labs ซึ่งถือเป็นบริษัทแรกที่ผลิตชิพซีพียูของคอมพิวเตอร์จากแร่ซิลิคอน (แต่เดิมใช้แร่เจอเมเนียม) และช็อกลีย์ก็รับเด็กจบใหม่จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จำนวนทั้งสิ้น 8 คน เข้ามาทำงานด้วย แต่ไม่นานก็ลาออกเพราะทนกับพฤติกรรมของช็อกลีย์ไม่ไหว ทำให้ช็อกลีย์หัวเสียอย่างมากและประณามวัยรุ่น 8 คนนั้นด้วยฉายา “จอมทรยศทั้งแปด” (Traitorous Eight)

จากนั้นจอมทรยศทั้งแปดก็ไปร่วมงานกับเชอร์มัน แฟร์ชายด์ (Sherman Fairchild) ก่อตั้งบริษัท Fairchild Semiconductor ซึ่งในช่วงทศวรรษ 1960 บริษัทนี้ก็ได้รับหน้าที่เขียนโปรแกรมให้กับยานอพอลโล่ 11

ต่อมาในปี 1968 จอมทรยศทั้งแปดบางส่วนก็ลาออกจาก Fairchild Semiconductor มีจอมทรยศทั้งแปด 2 คนนามว่ากอร์ดอน มัวร์ (Gordon Moore) และโรเบิร์ต ไนซ์ (Robert Nyce) ร่วมมือกันก่อตั้งบริษัทที่ทุกคนรู้จักกันดีในปัจจุบัน นั่นคือ บริษัท Intel ในปีเดียวกัน และหลังจากนั้นไม่นานพวกจอมทรยศทั้งแปดที่เหลือก็เริ่มตั้งบริษัทเอง เช่น AMD, KPCB, Teledyne และ Xicor

ในปี 1969 มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดตั้งสถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด (Stanford Research Institute) เพื่อร่วมกับสถาบันอื่น ๆ ในการพัฒนาอาพาร์เน็ต (ARPANET) เมกะโปรเจคของรัฐบาล ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นอินเตอร์เน็ตที่เราใช้กันในปัจจุบัน

ถัดมาในปี 1970 บริษัท Xerox ก็เข้ามาตั้งพาร์คแล็ป (PARC lab) ซึ่งเป็นสถานที่พัฒนาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน ได้แก่ อีเธอร์เน็ต (Ethernet) และกราฟฟิคอินเตอร์เฟสสำหรับผู้ใช้งาน (Graphical User Interface)

และในปี 1971 นักข่าวที่ชื่อดอน โฮเฟลอร์ (Don Hoefler) ได้เขียนบทความลงบนหน้าหนังสือพิมพ์ ในชื่อบทความ Silicon Valley in the USA ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่คำว่า “Silicon Valley” ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ และจากนั้นเป็นต้นมา มีบริษัทชื่อดังมากมายเข้ามาตั้งอยู่ที่นี่ เช่น Atari, Apple และ Oracle

และนับจากปี 1980 ซิลิคอนวัลเลย์ ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ eBay, Yahoo, PayPal และ Google ก็เริ่มเข้ามาตั้งบริษัทที่นี่ในช่วงปี 1990 และอีกทศวรรษถัดมาก็ตามด้วย Facebook, Uber, Twitter และ Tesla ในที่สุดซิลิคอนวัลเลย์ จึงกลายเป็นดินแดนแห่งสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีอันดับหนึ่งของโลก

กระนั้น…ความเป็นเอกอุทางด้านเทคโนโลยีไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้คนต้องการเดินทางมาที่นี่

สำหรับคนที่อยากมาทำงาน

สิ่งที่ดึงดูดให้บรรดาหัวกะทิอยากมาที่ซิลิคอนวัลเลย์ คือ เสรีภาพทางความคิดและวัฒนธรรมองค์กร บริษัทที่ตั้งอยู่ที่นี่นอกจากจะให้เงินเดือนที่สูงลิบและสวัสดิการขั้นเทพแล้ว ที่นี่แทบจะไม่มีระบบอาวุโส (Seniority) เลยก็ว่าได้ ทำให้พนักงานทั่วไปและผู้จัดการ/ผู้บริหารต่างอยู่ในระนาบเดียวกัน ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น ทุกคนสามารถเสนอไอเดีย วิพากษ์วิจารณ์โดยใช้เหตุผลในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องกลัวว่าจะไปท้าทายอำนาจมืดของใคร ซึ่งเป็นบรรยากาศการทำงานที่คนรุ่นใหม่ต้องการ

สำหรับผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ

ที่นี่ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นเลิศ สตาร์ทอัพจากทั่วทุกแห่งหนใฝ่ฝันที่จะได้มาเก็บเกี่ยวความรู้จากสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก มาเห็นมาสัมผัสกับไอเดียที่ทั้งบ้าและเจ๋งในเวลาเดียวกัน และมาเติมเต็มแรงบันดาลใจที่จะสานฝันสตาร์ทอัพของตัวเองให้สำเร็จ นอกจากนี้คนที่ยังไม่มีสตาร์ทอัพเป็นของตนเอง แต่มีไอเดียที่โคตรเจ๋ง ก็สามารถมาเสนอกับพวกบริษัทหลักทรัพย์จัดการเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) ที่นี่ได้ ถ้าไอเดียมันเจ๋งจริง มันโดนจริง ทางบริษัทก็จะช่วยสนับสนุนเงินให้ไอเดียนั้นเกิดขึ้นจริงด้วย

ปัจจุบันหลายประเทศพยายามนำโมเดลของ Silicon Valley ไปทำให้เกิดขึ้นจริงในประเทศของตนเอง หลายประเทศกำลังพยายามทำให้เป็นรูปเป็นร่าง และบางประเทศก็ทำสำเร็จแล้วซึ่งหลายคนคงนึกไม่ถึงแน่นอน นั่นคือ ประเทศอิสราเอล อิสราเอลมีเมืองที่ชื่อเทลอาวีฟ (Tel Aviv) ปัจจุบันเป็นเมืองแห่งเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพอันดับ 2 ของโลกและกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตอาจทัดเทียมได้กับซิลิคอนวัลเลย์ก็เป็นได้

พลังแห่งความคิดสร้างสรรค์และความเชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปได้ ณ ซิลิคอนวัลเลย์ ได้จุดประกายให้กับคนที่มีฝันจากทั่วทุกมุมโลก มุ่งหน้าและพิชิตเป้าหมายของตนเองให้สำเร็จ

สำหรับบทความตอนที่ 3 ก็จบลงเพียงเท่านี้ หวังว่าหลายคนคงรู้จักทิพยวิมานแห่งเทคโนโลยีที่ชื่อซิลิคอนวัลเลย์มากขึ้น ได้ยินได้พบคำนี้ที่ไหนก็ไม่ต้องทำหน้างงสงสัยอีกต่อไปแล้ว และในตอนต่อไปเราจะพูดถึงการเริ่มทำสตาร์ทอัพของตัวเอง อย่าลืมติดตามกันนะ!

———————————-
EP.1 สตาร์ทอัพคืออะไร?
EP.2 ประเภทของสตาร์ทอัพ
EP.3 รู้จักกับซิลิคอนวัลเลย์
EP.4 ได้เวลาเริ่มต้นทำสตาร์ทอัพ

Recent Posts
Contact Us

We're not around right now. But you can send us an email and we'll get back to you, asap.

Start typing and press Enter to search