หลายคนคงเคยเห็นหรือเคยได้ยินคำนี้จากที่ไหนสักที่ แล้วสงสัยไหมว่าจริง ๆ แล้ว คำว่า “สตาร์ทอัพ” มันคืออะไรกันแน่? วันนี้เราจะชี้แจงแถลงไขให้ทุกคนเข้าใจแบบง่ายเฟ่อร์อะไรเบอร์นั้น เอาล่ะ..ซู้ดเพลงมา!

สตาร์ทอัพ หมายถึง…

ธุรกิจที่มุ่งสร้าง/พัฒนาผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการในรูปแบบที่ไม่เคยมีใครทำก่อน มีความสดใหม่และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยทั่วไปแล้วผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการนั้น ๆ จะต้องสามารถเข้าไปแก้ปัญหาที่คนบางกลุ่มหรือคนทั่วไปกำลังเผชิญอยู่ หรือเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตให้สะดวกสบายมากขึ้น อีกทั้งธุรกิจดังกล่าวจะต้องสามารถ “ทำซ้ำได้และขยายตัวได้”

ทำซ้ำได้ (Repeatable)

คือการที่เราสามารถนำโมเดลของธุรกิจนั้น ๆ ไปทำให้เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นโดยไม่ต้องปรับโมเดล (หรือปรับน้อยมาก) ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถนำโมเดลทางธุรกิจของ Grab ที่ใช้ในประเทศมาเลเซีย ไปใช้ในประเทศไทย เวียดนาม หรือสิงค์โปร์ได้แบบเดียวกัน

ขยายตัวได้ (Scalable)

หมายความว่า ธุรกิจดังกล่าวจะต้องสามารถขยายฐานลูกค้า-ขยายฐานตลาดได้ หรือสามารถเพิ่มฟีเจอร์ของผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าใช้บริการมากขึ้น

อีกทั้งในยุคนี้ที่เทคโนโลยีที่พัฒนาไปไกลมาก ทำให้มีการนำซอฟต์แวร์หรือแอพพลิเคชั่นเข้ามาทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพ จึงก่อให้เกิดคำใหม่ที่ในแวดวงสตาร์ทอัพนิยมใช้กันคือคำว่า “เทคสตาร์ทอัพ (Tech Startup)”

เทคสตาร์ทอัพ ไม่ได้หมายถึงธุรกิจที่ทำเกี่ยวกับแอพพลิเคชั่นหรือซอฟต์แวร์เท่านั้น

แต่รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ ที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น อูเบอร์ (Uber) ธุรกิจที่ให้บริการด้านการขนส่งผู้โดยสาร แต่อูเบอร์มีแอพพลิเคชั่นที่ผู้ใช้งานสามารถเรียกรถมารับได้ถึงที่ มีฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้ใช้งานสะดวกสบายมากขึ้น ทำให้อูเบอร์จัดเป็นเทคสตาร์ทอัพนั่นเอง

และสมัยนี้แทบไม่มีสตาร์ทอัพเจ้าไหนที่ไม่เอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้งาน การใช้คำว่า “เทคสตาร์ทอัพ” จึงมีความเฉพาะเจาะจงและเป็นที่เข้าใจในระดับโลกมากกว่าคำว่า “สตาร์ทอัพ” เฉย ๆ (แต่จริง ๆ แล้ว จะเรียกแบบไหนก็ได้เพราะเป็นอันว่ารู้กัน)

คุณสมบัติอีกอย่างของสตาร์ทอัพนอกเหนือจากที่กล่าวไปและนับว่าเป็นจุดเด่นเลยก็ว่าได้ คือ เป้าหมายและวิธีการเพื่อสร้างความเติบโตของธุรกิจ เป้าหมายของสตาร์ทอัพไม่ได้อยู่ที่การสร้างความเติบโตที่ 2-3 เท่า แบบเรื่อย ๆ เนือย ๆ หากแต่เป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด 10-100 เท่าเลยทีเดียว  (Exponential Growth)

ส่วนวิธีการก็ไม่ได้อาศัยการเพิ่มกำลังการผลิตหรือการจ้างพนักงานเพิ่ม แต่เป็นการต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ เช่น การเพิ่มฟีเจอร์ให้ตอบสนองผู้ใช้งานมากขึ้น การนำธุรกิจเข้าไปอยู่ในแพลทฟอร์มที่หลากหลายกว่าเดิม หรือกลยุทธ์อื่น ๆ ที่สตาร์ทอัพนั้น ๆ เห็นว่าเหมาะสม สตาร์ทอัพที่เติบโตจนถึงระดับสุดยอดจะได้รับการขนานนามว่า “ยูนิคอร์น (Unicorn)” เป็นสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เช่น Facebook, Amazon, Airbnb หรือ Uber เป็นต้น

ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลนี้ ทำให้ทุกสายตาโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ต่างจับจ้องไปที่สตาร์ทอัพด้วยความหวังว่ามันจะเป็นช่องทางที่จะปลดแอกชีวิตจากการทำงานประจำ ผันตัวเองเป็นเจ้าของธุรกิจและกลายเป็นเศรษฐีอายุน้อยร้อยล้านในที่สุด แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น สตาร์ทอัพราว 90% ล้มเหลว และมีเพียง 10% หรือน้อยกว่านั้นที่ประสบความสำเร็จ

แต่ต้องเข้าใจไว้ด้วยว่าสิ่งที่สตาร์ทอัพทำเป็น “ของใหม่”

มันจึงมีโอกาสล้มเหลวสูง แต่ด้วยธรรมชาติของสตาร์ทอัพที่ใช้เงินลงทุนเริ่มแรกไม่มากและมีคนร่วมทำเพียงไม่กี่คน ทำให้กลับมาเริ่มต้นใหม่ได้ง่าย คนที่ประสบความสำเร็จส่วนมากก็ไม่ได้ทำครั้งแรกแล้วสำเร็จเลย คนเหล่านี้เรียนรู้จากความผิดพลาดที่ผ่านมา แล้วเริ่มต้นใหม่ด้วยความมุ่งมั่น จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ ตัวอย่างสตาร์ทอัพของไทยที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ อุ๊คบี (Ookbee) : แอพฯอ่านหนังสือออนไลน์, บิลค์ (Builk) : แอพฯบริหารจัดการธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง แล สกูต้า (Skootar) : แอพฯบริการแมสเซ็นเจอร์ทันใจ เป็นต้น

 “จงล้มให้เร็วและลุกให้เร็ว”

คำกล่าวอันเป็นหัวใจของการทำสตาร์ทอัพ และยังบอกเป็นนัยด้วยว่าคนที่จะเข้ามาในวงการนี้ต้องพร้อมรับมือกับความล้มเหลวเสมอ ต้องมองความผิดพลาดในแง่ดี และมีจิตใจที่ตั้งมั่นอย่างแท้จริง

สรุปองค์ประกอบที่จะทำให้ธุรกิจนั้นเรียกว่าสตาร์ทอัพ

  1. เป็นสิ่งใหม่และมีความโดดเด่น (New & Unique)

  2. เข้าไปแก้ปัญหาหรือทำให้ชีวิตให้ง่ายขึ้น (Solving Problems or Simplifying One’s Life)

  3. ทำซ้ำได้และขยายตัวได้ (Repeatable & Scalable)

  4. เติบโตแบบก้าวกระโดด (Exponential Growth)

หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกคนเข้าใจคำว่าสตาร์ทอัพเบื้องต้นไม่มากก็น้อย ในตอนต่อไปเราจะพูดถึงว่าสตาร์ทอัพในปัจจุบันมีกี่ประเภท? และมีอะไรบ้าง? อย่าลืมติดตามตอนต่อไปกันนะ

———————————-
EP.1 สตาร์ทอัพคืออะไร?
EP.2 ประเภทของสตาร์ทอัพ
EP.3 รู้จักกับซิลิคอนวัลเลย์
EP.4 ได้เวลาเริ่มต้นทำสตาร์ทอัพ

 

 

Recent Posts
Contact Us

We're not around right now. But you can send us an email and we'll get back to you, asap.

Start typing and press Enter to search