นับตั้งแต่ EP.1 – EP.3 เราก็พาทุกคนไปรู้จักกับธุรกิจสตาร์ทอัพกันไปเรียบร้อยแล้ว รวมถึงซิลิคอนวัลเลย์ ดินแดนอันต้นกำเนิดของสตาร์ทอัพที่ยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน และใน EP.4 ที่ทุกคนกำลังอ่านอยู่นี้ เราจะบอกถึงคุณสมบัติสำคัญของผู้ที่ต้องการทำสตาร์ทอัพ รวมถึงขั้นตอนวิธีการที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

คำว่า “Unicorn” เริ่มต้นที่ “U” ตัวแรก

“U/You” แปลว่า “คุณ” นั่นหมายความว่า การที่จะเริ่มทำอะไรอย่างจริงจังสักอย่าง มันต้องเริ่มต้นจากตัวคุณเองก่อนเสมอ

ข้อแรก คุณต้องมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าว่าคุณต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างแท้จริง คุณอยากเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น อยากแก้ปัญหาให้กับผู้อื่น ไม่ใช่เพียงแค่คิดว่ามาทำตรงนี้แล้วมันรวยเร็วดี ซึ่งนี่เป็นความคิดที่ผิดมหันต์

ข้อถัดมา คุณต้องค้นหาสิ่งที่ตัวคุณหลงใหลและอยากทำสำเร็จให้เจอ จะรู้ได้ไงว่าเจอสิ่งที่เราหลงใหลแล้ว? คำตอบ คือ คุณจะคิดถึงมันแทบตลอดเวลา มีความสุขที่ได้คิดได้ทำเกี่ยวกับสิ่งนั้น อยากเห็นมันดีขึ้นเรื่อย ๆ และพร้อมที่จะอุทิศชีวิตและเวลาให้กับมันโดยไม่รู้สึกเสียดาย

ข้อสุดท้าย (แต่ไม่ท้ายสุด) คุณต้องพร้อมรับมือกับความล้มเหลวที่จะเกิดขึ้น ถ้าคุณคิดอยากเป็นเจ้าของสตาร์ทอัพ ให้เก็บความสำเร็จไว้ในส่วนลึกของหัวใจได้เลย เพราะสิ่งที่คุณจะเจอคือความผิดพลาดและความล้มเหลวซะเป็นส่วนใหญ่ แต่การเรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาดและล้มเหลวนี่แหละ ที่จะทำให้คุณสำเร็จในอนาคต ดังนั้นทำใจไว้ได้เลยว่าคุณไม่สำเร็จตั้งแต่ First-Try แน่นอน

อันที่จริงยังมีคุณสมบัติอื่นอีกที่สำคัญ แต่ว่าคุณสมบัติสามข้อที่กล่าวมาถือเป็นแกนหลักที่ผู้ที่ทำสตาร์ทอัพจำเป็นต้องมี มีอย่างอื่นแต่ไม่มีสามข้อนี้ การทำสตาร์ทอัพให้สำเร็จก็แทบเป็นไปไม่ได้เลย

“ความปรารถนาที่จะทำ ความหลงใหลในสิ่งที่ทำ และความไม่ย่อท้อต่อความล้มเหลว

คือ หัวใจสำคัญของผู้ที่ทำสตาร์ทอัพ”

ถ้าคุณมีครบสามข้อ ก็ถึงเวลาลงมือทำเสียที

แอนนา วิทัล (Anna Vital) ผู้เคยร่วมงานกับ Google, Cisco และ World Bank ได้สรุปวิธีการทำสตาร์ทอัพแบบเป็น Step by Step ทั้งหมด 14 ขั้นตอน เพื่อให้ผู้ที่ต้องการริ่เริ่มสตาร์ทอัพสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

Step 1: จงล้ำหน้ากว่าปัจจุบัน (Live in the Future, ahead of your time.)
คือการคิดให้ไกลกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ จินตนาการถึงสิ่งที่เราอยากให้มีในอนาคต

Step 2: ดูว่าโลกใบนี้ขาดหายอะไรไป? (What is missing in the World?)
ลองพิจารณาดูว่าสิ่งที่เราอยากให้มีอนาคต มันเป็นสิ่งที่โลกใบนี้ต้องการรึเปล่า มันสามารถเติมเต็มโลกใบนี้ได้หรือไม่

Step 3: เขียนสิ่งที่เราคิดและตกผลึกมันออกมาก (Write it down and bounce ideas around.)
ไอเดียที่ดีต้องไม่ใช่ไอเดียที่ลอยฟุ้งอยู่ในหัว แต่เราต้องสามารถอธิบายและตกผลึกไอเดียนั้นได้ด้วย ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีทางทำให้เป็นจริงได้

Step 4: สร้างผลิตภัณฑ์ตัวต้นแบบ (Make a Prototype)
เมื่อทุกอย่างพร้อมสรรพ ก็ถึงเวลาเปลี่ยนนามธรรมให้เป็นรูปธรรม ลองทำตัวต้นแบบของสิ่งที่เราคิดออกมา

Step 5: แสดงตัวต้นแบบแก่คน 100 คน (Show the prototype to 100 people.)
เมื่อทำเสร็จ ก็ลองเอาไปแสดงให้คนอื่นดู เทสต์ผลิตภัณฑ์ให้พวกเขาเห็น แล้วรับฟังฟีดแบ็คจากพวกเขาว่าตัวต้นแบบมีข้อดี-ข้อเสียตรงไหนบ้าง จุดไหนที่ควรจะปรับปรุง รวมถึงความคาดหวังของพวกเขาที่มีต่อผลิตภัณฑ์ของเรา

Step 6: ปรับปรุงตัวต้นแบบจนกว่ามันจะเข้าที่ (Iterate on the prototype until it makes sense.)
รับคำติชมทั้งหลายทั้งมวลมาปรับปรุงตัวต้นแบบของเราให้มันดียิ่งขึ้น ตอบสนองต่อความต้องการมากขึ้น

Step 7: เสาะแสวงหาผู้ร่วมก่อตั้ง (Find a Co-Founder)
การทำสตาร์ทอัพให้สำเร็จด้วยตัวเองเพียงคนเดียวเป็นเรื่องยาก ดังนั้นการหาเพื่อนร่วมอุดมการณ์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้ตัวผลิตภัณฑ์เลยทีเดียว การได้ผู้ร่วมก่อตั้งที่มีความสามารถและมีความทุ่มเทไม่แพ้คุณ สตาร์ทอัพของคุณก็เริ่มมีหวังแล้ว

Step 8: จดทะเบียนบริษัทและแบ่งหุ้นส่วน (Register your C-Corp, Split equity)
ถ้าเป็นไปได้ ก็หาทนายมาจัดการเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ และแบ่งหุ้นส่วนบริษัทให้กับผู้ร่วมก่อตั้งในระดับที่เราและเขาพอใจ พร้อมจะลุยงานหนักไปด้วยกันได้

Step 9: แสวงหาทุนสนับสนุนและพัฒนาตัวต้นแบบออกมาเป็นเวอร์ชั่นสมบูรณ์รุ่นแรก (Look for funding and build version one at the same time.)
นำโปรเจคของเราไปลงตามเว็บ Crowdfunding เช่น Kickstarter, GoFundMe หรือ Crowdrise เป็นต้น หรือนำไปเสนอกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการเงินร่วมลงทุน (Venture Capital: VC) เพื่อระดมทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาเป็นเวอร์ชั่นสมบูรณ์

Step 10: ปล่อยของ และป่าวประกาศว่าผลิตภัณฑ์เราสมบูรณ์แล้ว (Launch – Let everyone know you have made something.)
ได้เวลาปล่อยของตัวสมบูรณ์ออกมา และแจ้งให้ทุกคนที่ติดตามผลงานเรารู้รับทราบว่าผลิตภัณฑ์ของเราพร้อมใช้งานจริงแล้ว

Step 11: ติดตามผลตอบรับจากผู้ใช้งานและดูว่าพวกเขากลับมาหาเรารึเปล่า (Follow Up with User. Are they coming back?)
ตรวจดูว่ากระแสเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของเราเป็นยังไงบ้าง ผู้ใช้งานโอเคกับมันมากน้อยแค่ไหน แล้วพวกเขากลับมาหรือเปล่า ถ้ากลับมา ไปต่อที่ Step 12 ได้ ถ้าไม่กลับมา ก็ดูว่าเป็นเพราะอะไร ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ใหม่แล้วย้อนกลับไปที่ Step 10 (สตาร์ทอัพชื่อดังอย่าง Airbnb ทำการ Launch ทั้งหมด 3 ครั้งกว่าจะสำเร็จ)

Step 12: มุ่งสู่การมีผู้ใช้งานให้ได้ 1,000 คน (Get to 1,000 Users.)
ถ้าเราทำให้ผู้ใช้งานรุ่นแรกกลับมาหาเราได้ การเพิ่มผู้ใช้งานให้ถึง 1,000 คน ก็ไม่ใช่เรื่องยากนัก

Step 13: เพิ่มจำนวนผู้ใช้งานให้ได้ 5% ต่อสัปดาห์ ยากก็จริงแต่พิสูจน์แล้วว่าเป็นไปได้ (Grow 5% a week. {Hard, but proven possible})
หลังจากนั้นจงทำการตลาด พัฒนาฟีเจอร์ของผลิตภัณฑ์ ตลอดจนใช้กลยุทธ์ร้อยแปดพันประการเพื่อเพิ่มฐานผู้ใช้งานให้ได้อย่างน้อย 5% ต่อสัปดาห์

Step 14: รักษาการเติบโตต่อไปเรื่อย ๆ ในอีก 4 ปีข้างหน้าคุณจะมีผู้ใช้งาน 25 ล้านคน (Keep growing for another 4 years, and at that rate you will reach 25 million users.)
หากทำได้ตามนี้ก็ถือได้ว่าสตาร์ทอัพของเราประสบความสำเร็จแล้ว ที่เหลือก็อยู่ที่ว่าเราจะรักษาความสำเร็จไปได้อีกนานแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ขั้นตอนสำเร็จรูปที่จะการันตีว่าสตาร์ทอัพของคุณจะประสบความสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ และไม่ใช่หนทางเดียวในการทำสตาร์ทอัพ Anna Vital เพียงแต่เสนอว่าคุณควรทำอะไรในแต่ละช่วงเวลาเท่านั้น

[บทส่งท้าย]

การทำสตาร์ทอัพไม่มีวิธีการทำที่ตายตัว ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จแต่ละคน ต่างก็มีวิธีการเป็นของตัวเองในแง่รายละเอียด แต่ที่แน่นอนคือ พวกเขาเหล่านั้นล้วนเคยลิ้มรสกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น แต่ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่นและการรู้จักเรียนรู้จากความล้มเหลวที่ผ่านมา ทำให้ท้ายที่สุดเขาก็ประสบความสำเร็จจนได้

หวังว่าซีรี่ย์สตาร์ทอัพของเราทั้งหมด 4 ตอน จะช่วยทำให้ใครหลายคนรู้จักกับสตาร์ทอัพมากขึ้น หรือกระทั่งจุดประกายความฝันในการทำสตาร์ทอัพ เราก็ปลื้มปิติอย่างหาที่สุดมิได้แล้ว

The End.

———————————-
EP.1 สตาร์ทอัพคืออะไร?
EP.2 ประเภทของสตาร์ทอัพ
EP.3 รู้จักกับซิลิคอนวัลเลย์
EP.4 ได้เวลาเริ่มต้นทำสตาร์ทอัพ

Recent Posts
Contact Us

We're not around right now. But you can send us an email and we'll get back to you, asap.

Start typing and press Enter to search