Clubhouse และ Twitter Spaces แอปสนทนาด้วยเสียงมาแรงในปัจจุบัน หากมองเผินๆอาจมีหลายอย่างคล้ายคลึงกันมาก แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันและผู้ใช้งานควรรู้ คือทั้งสองแอปมีนโยบายการบันทึกเสียงสนทนาภายในแอปที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

Clubhouse ลบบันทึกหลังคุยจบ นอกจากมีคนร้องเรียน
เริ่มกันที่ Clubhouse ก่อน แม้จะมีการบันทึกเสียงสนทนาที่เกิดขึ้นในแอป แต่บริษัทเลือกที่จะลบบันทึกโดยอัตโนมัติเมื่อห้องสนทนาสิ้นสุดลง นอกจากจะมีผู้ใช้งานภายในห้องรายงานว่ามีการละเมิดมาตรการต่างๆของแอป จึงจะมีการเก็บบันทึกไว้จนกว่าจะตรวจสอบเรียบร้อย และ Clubhouse ยังมีกฎที่ห้ามผู้ใช้งานบันทึกการสนทนาในห้อง นอกจากจะได้รับการยินยอมจากผู้ร่วมสนทนาภายในห้องทั้งหมด

Twitter เก็บไว้ 30 วัน เผื่อมีคนร้องเรียน
ด้าน Twitter นั้นแตกต่างกันอย่างชัดเจน ทางบริษัทจะจัดเก็บบทสนทนาทั้งหมดที่เกิดขึ้นใน Twitter Spaces เป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน เพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจต้องมีการตรวจสอบการละเมิดกฏของแพลตฟอร์ม และหากตรวจพบการละเมิด ก็จะเก็บบันทึกการสนทนาไว้ได้ถึง 90 วัน เพื่อเป็นหลักฐานไว้ใช้ในกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ซึ่งการละเมิดกฏอาจนำไปสู่การถูกระงับการใช้งานด้วย
สรุป
แนวทางในการจัดเก็บข้อมูลของทั้งสองแอปพลิเคชั่นมีความแตกต่างกัน เพราะจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน Twitter ดูจะให้ความสำคัญในการนำเนื้อหาที่สนทนาไปใช้งานต่อได้อย่างหลากหลายในอนาคต รวมถึงบนแพลตฟอร์มอื่นๆด้วย ซึ่งสำหรับคนที่หวงแหนความเป็นส่วนตัวของข้อมูลก็อาจจะไม่ค่อยถูกใจเท่าไร แต่กับ Clubhouse จะให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูลเป็นอันดับแรก และถือว่าอะไรที่คุยในห้องสนทนาก็จบอยู่ในห้องเท่านั้น แต่ก็แลกมาด้วยการนำไปต่อยอดอะไรไม่ได้ (หรือได้แต่ก็ยากซักหน่อย) สุดท้ายก็อยู่ที่ผู้ใช้งานอย่างเรา ที่จะเลือกสิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการของตัวเอง เพราะของอย่างนี้ไม่มีอะไรผิดอะไรถูกอยู่แล้วเนอะ