เห็นหัวข้อแล้วอย่าพึ่งตกใจกันนะว่าทำไม Bossup Solution ถึงเอา How to ประหลาด ๆ มาให้เราอ่านกัน เพราะก่อนหน้านี้เราเขียนบทความ “หลัก 6 ประการ สานฝันสตาร์ท อัพให้เป็นจริง” ครั้งนี้เราจึงอยากเขียนบทความที่ยั่วล้อบทความที่เราเคยเขียนมาดูบ้าง

อันที่จริงแล้วบทความนี้เป็นหลักทางจิตวิทยาอย่างหนึ่งที่ว่า บางครั้งวิธีการสอนที่ดีสุด อาจไม่ใช่การสอนให้รู้จักสิ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จ แต่เป็นการสอนให้รู้จักสิ่งที่จะนำไปสู่ความล้มเหลวต่างหาก ซึ่งแนวคิดแบบนี้พบได้ในหนังสือ How to ruin your life ที่โด่งดังของ Ben Stein โดยเขียนออกมาในน้ำเสียงเสียดสี แต่ชวนขันและอุดมไปด้วยข้อคิดดี ๆ เป็นจำนวนมาก

แต่ในบทความนี้เราไม่ได้มาพูดถึงหนังสือของ Ben Stein แต่อย่างใด แต่เราจะพูดถึงแนวทางที่สตาร์ทอัพทั้งหลาย (ไม่) ควรปฏิบัติโดยใช้กลวิธีการนำเสนอแบบเดียวกับ Ben Stein หวังว่าผู้อ่านทุกคนคงจะรู้สึกขบขันไปพร้อม ๆ กับได้รับสารประโยชน์จากบทความนี้ด้วย

  1. กู้เงินเสียตั้งแต่เนิ่น ๆ

การเป็นผู้ประกอบการที่ดี ต้องไม่ฝากภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนไว้กับกระแสเงินสดที่เชื่อถือไม่ได้และคาดเดาไม่ได้ แต่ต้องฝากภาระไว้กับเงินที่กู้ยืมมาแทน ดังนั้นเมื่อคุณทำเรื่องกู้เงินกับธนาคารได้ จงกู้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้และจงมั่นใจในตัวเองว่ามีปัญญาจ่ายคืนทั้งหมด จำไว้ว่าการกู้เงินตั้งแต่เริ่มธุรกิจก็นับว่าประสบความสำเร็จไปครึ่งทางแล้ว

  1. จ้างคนให้มากและเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ยิ่งเราเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทเขาเรามากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้บริษัทเราต้องทำยอดขายมากเท่านั้น นี่เป็นเคล็ดลับที่ไม่ใครเคยคาดคิดมาก่อนแน่นอน อย่าไปสนใจรายจ่ายที่มีอยู่ จงรีบปั่นยอดขายให้เลือดตาแทบกระเด็น เพื่อมาจ่ายค่าจ้างพนักงาน คิดเสียว่าพนักงานเรายิ่งมาก บริษัทเรายิ่งขยายตัวตามไปด้วย

  1. จงมุ่งมั่นในการวางแผน

มีภาษิตของอดีตประธานาธีบดีสหรัฐ อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ที่กล่าวว่า ถ้าข้าพเจ้ามีเวลาแปดชั่วโมงในการตัดต้นไม้ ข้าพเจ้าจะใช้เวลาหกชั่วโมงในการลับขวานให้คม นี่เป็นคำคมที่ล้าสมัยไปเสียแล้ว ในยุคนี้หากเรามีเวลา 8 ชั่วโมงในการตัดต้นไม้ จงใช้เวลาทั้งหมด 8 ชั่วโมงเพื่อลับขวานเท่านั้น เสียงลับขวานที่บาดลึกและความคมของขวานอันน่าเกรงขาม จะทำให้ต้นไม้ล้มลงมาเองโดยที่เราไม่ต้องออกแรงสักนิดเดียว สตาร์ทอัพก็เช่นกัน วางแผนให้ดีแล้วจะประสบความสำเร็จแน่นอน (ส่วนการลงมือทำนั้นไม่จำเป็น)

  1. จัดทีมบริหารให้เต็มสูบ

ทำให้สตาร์ทอัพของเรามีตำแหน่งผู้บริหารให้ครบไม่ว่าจะเป็น CFO, COO, CTO, CIO และ CMO เนื่องจากตำแหน่งเหล่านี้มีความสำคัญมาก เพราะมันจะทำให้หน้าเว็บไซต์ของเราดูดี ดูน่าเชื่อถือ และดูมีระดับ แตกต่างจากพวกสตาร์ทอัพระดับล่างที่มีทีมบริหารไม่กี่คนเท่านั้น และการทำแบบนี้ก็จะยิ่งสอดคล้องกับข้อที่ 3 ด้วยเพราะค่าจ้างคนมาทำตำแหน่งนี้มีราคาสูงมาก แต่อย่าลืมว่ายิ่งค่าใช้จ่ายมาก ก็ยิ่งกระตุ้นสตาร์ทอัพของเราไปด้วย

  1. ภาพลักษณ์ต้องมาก่อน

ภาพลักษณ์ของบริษัทถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด การตกแต่งบริษัทให้ดูหรู มีเฟอร์นิเจอร์ราคาแพง มีเทคโนโลยีล้ำ ๆ มีขนมและเครื่องเล่นเกมต่าง ๆ ไว้ให้พนักงานผ่อนคลาย ดูตัวอย่างได้จากบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Google หรือ Facebook ก็ได้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวที่ทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจและติดหนึบกับแบรนด์ของเรา ส่วนเรื่อง Performance เช่น การเพิ่มกำไร การทำแคมเปญกระตุ้นยอดขาย และอื่น ๆ ถือเป็นเรื่องรองทั้งนั้น ของพวกนี้รอไว้ก่อนได้ เน้นการสร้างภาพลักษณ์ก่อน

  1. ใช้เวลาที่มีหาเงินลงทุนร่วมและหุ้นนอกตลาด

อย่างที่บอกไปว่าจงใช้เวลาเพื่อการวางแผนเท่านั้น การหาเงินทุนก็เป็นส่วนหนึ่งด้วย เพราะเราจะได้ไม่ต้องมาสนใจกับการพัฒนาคุณภาพสินค้าหรือบริการของเรา การอัดฉีดเงินเข้าไปเป็นจำนวนก็จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นเองโดยไม่ต้องลงมือทำอะไรทั้งนั้น เมื่อสินค้าหรือบริการของเราดีขึ้น ลูกค้าก็จะเลือกซื้อของจากบริษัทของเราตามหลักปรัชญาทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่า “มนุษย์ย่อมเลือกสิ่งที่สุดให้กับตัวเอง” และเงินส่วนหนึ่งก็จงนำไปจัดปาร์ตี้ หรือมีทติ้งให้กับพนักงาน เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการทำงานให้กับพวกเขา

ด้วยเหตุผลทั้งหมด 6 ข้อที่กล่าวมา เราเชื่อมั่นว่ามันจะทำให้สตาร์ทอัพของทุกคนดิ่งลงเหวแห่งความสำเร็จได้อย่างแน่นอน ผู้ประกอบการคนไหนที่อยากลองนำแนวทางของเราไปใช้ ก็อยากให้คอมเมนต์หน่อยว่าอะไรดลใจให้คิดแบบนั้น และช่วยส่งต่อแนวคิดนี้ไปให้ผู้อื่นได้ประสบชะตากรรมเดียวกับท่านด้วย

เรียบเรียงจาก: entrepreneur

อ่านบทความ “หลัก 6 ประการ สานฝันสตาร์ทอัพ ให้เป็นจริง”

Recent Posts
Contact Us

We're not around right now. But you can send us an email and we'll get back to you, asap.

Start typing and press Enter to search