ในที่สุดก็มาถึง EP.3 ที่จะพูดถึงสิ่งที่หลายคนอยากรู้มากที่สุด นั่นก็คือ การขุดบิทคอยน์ (Bitcoin Mining) ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในวงการคอมพิวเตอร์และบรรดานักลงทุนที่เห็นช่องโกยกำไรจากบิทคอยน์  และอีกเช่นเคย เราจะค่อย ๆ อธิบายเรื่องการขุดบิทคอยน์โดยใช้คำถามง่าย ๆ เป็นตัวคลี่คลายความซับซ้อนของการขุดบิทคอยน์ให้ทุกคนเข้าใจ

ไม่ต้องพูดพร่ำทำเพลงอะไรกันแล้ว เรามาเข้าสู่เนื้อหาของ EP.3 กันเลยดีกว่า

  • “การขุดบิทคอยน์นี่คือเอาพลั่วไปขุดเครื่องคอมหรอ ยังงี้ก็พังหมดดิ!”

จะบ้ารึงไง!? มันก็แค่การเปรียบเปรยเฉย ๆ เอาอย่างนี้ละกัน เพื่อไม่ให้ถลำลึกไปกว่านี้ เรามาทำความเข้าใจกับระบบการทำงานของมันก่อน กล่าวคือ ต้องย้อนกลับไปที่ EP.2 บล็อคเชนคืออะไร? สักเล็กน้อย ที่พูดถึงว่าคอมพิวเตอร์ของผู้ที่ใช้งานบล็อกเชนจะมีสถานะเป็นโหนด (Node) ที่คอยยืนยันความถูกต้องของธุรกรรม (Transaction) แต่ประเด็นคือ ไม่ใช่ทุกคนที่ทำหน้าที่ยืนยันความถูกต้องของธุรกรพ่อรม แต่มันจะมีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่ใช้คอมพิวเตอร์ของตัวเองอาสาทำหน้าที่นี้ โดยเราจะเรียกคนเหล่านี้ว่า “นักขุด (Miner)”

  • “แล้วเขาใช้คอมตัวเองยืนยันความถูกต้องของธุรกรรมยังไงอะ? แล้วเขาได้อะไรเป็นรางวัลตอบแทน?”

การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อยืนยันความถูกต้องของธุรกรรม มีหลักการง่าย ๆ คือ ธุรกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 10 นาทีจะถูกบรรจุลงกล่อง นักขุดก็ทำหน้าที่ตรวจสอบว่าธุรกรรมที่อยู่ในกล่องนั้นทั้งหมดมีอันไหนจริง อันไหนปลอมบ้าง เมื่อตรวจสอบเสร็จแล้วก็แค่ปิดกล่อง แล้วก็เริ่มกล่องใหม่ แต่บล็อกเชนสร้างกลไกพิเศษขึ้นมา นั่นก็คือว่า ผู้ที่จะทำหน้าที่ปิดกล่องแล้วเริ่มกล่องใหม่ต้องใช้รหัสลับเท่านั้น และการจะรู้รหัสลับนี้ได้ ก็ต้อง “สุ่มวนไปค่ะ”

โดยรหัสที่ว่าจะเป็นตัวเลขและตัวอักษรแบบ 256 บิท หรือพูดง่าย ๆ ก็คือรหัสลับนั้นมีความเป็นไปได้ถึง  2256 รหัส ซึ่งมันมหาศาลมาก แต่อย่างไรก็ดี บล็อกเชนสามารถปรับจำนวนบิทให้น้อยลงเพื่อให้เหมาะสมกับพลังการสุ่มในขณะนั้นได้ โดยจะรักษาเวลาให้มีคนสุ่มรหัสเจออยู่ที่ประมาณ 10 นาที

ทีนี้บรรดานักขุดทั้งหลาย ก็ต้องเอาคอมพิวเตอร์ของตัวเองมาสุ่มรหัสแข่งกันว่าใครจะเป็นผู้ชนะ ซึ่งผู้ชนะจะมีเพียงแค่หนึ่งเดียวเท่านั้น เราจึงเปรียบเปรยการสุ่มรหัสแบบนี้ว่าเป็น “การขุดบิทคอยน์” เพราะผู้ที่สุ่มรหัสได้ถูกต้องเป็นคนแรกก็จะได้บิทคอยน์เป็นรางวัล ส่วนที่เหลือก็กินแห้วไปตามระเบียบ

  • อย่างนี้ก็ต้องทำให้คอมพิวเตอร์แรง ๆ ถึงจะมีโอกาสสุ่มเจอมากกว่าคนอื่นถูกไหม?”

ถูกต้อง เพราะถ้าคอมพิวเตอร์เราช้า เราก็สุ่มรหัสไม่ทันคนอื่น หากเราคิดจะขุดบิทคอยน์จริง ก็ต้องอัพเกรดอุปกรณ์ภายในคอมให้เหมาะสม ซึ่งอุปกรณ์ภายในคอมที่ใช้สุ่มรหัสได้ ก็จะมีหลัก ๆ คือ หน่วยประมวลผลกลาง (CPU) การ์ดจอ (GPU) และอุปกรณ์เฉพาะทางอื่น ๆ เช่น ASIC แต่ละอุปกรณ์จะมีความทรงพลังในการสุ่มไม่เท่ากัน CPU อาจสุ่มได้ 1 ล้านรหัส/วินาที ในขณะที่การ์ดจอทำได้ 10-100 ล้านรหัส/วินาที หรือถ้าเป็นอุปกรณ์เฉพาะทางอย่าง ASIC อาจทำได้ถึง 1,000-10,000 ล้านรหัส/วินาที (นี่เป็นตัวเลขที่สมมติขึ้นมาเท่านั้น แล้วก็ขึ้นอยู่กับรุ่นของอุปกรณ์ด้วย)

  • “อ๋อ พอเข้าใจหลักการขุดละ แล้วการลงทุนขุดบิทคอยน์มันมีกี่แบบ? ต้องทำยังไงบ้าง?”

เริ่มแรกให้เราสมัครบัญชีบิทคอยน์จากเว็บไหนก็ได้ โดยเราจะได้ Bitcoin Address ที่เป็นบัญชีของเรา หน้าตาก็จะประมาณนี้ 3KoPLdyjJkrPjUo8F28tio3BZuN22Bz21p เป็นบัญชีที่ไว้รับเงินจากการขุด

เมื่อได้บัญชีบิทคอยน์มาแล้ว ต่อไปเราจะพูดถึงวิธีทำมาหากินกับบิทคอยน์ โดยการขุดบิทคอยน์สามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่

  1. การขุดแบบปกติ (General Mining) โดยแบ่งย่อยได้อีก 2 แบบ คือ
    • การขุดแบบเดี่ยว (Solo Mining) ก็คือใช้คอมที่เราประกอบขึ้นมา ขุดตรงไปยังบล็อคเชนเลย แต่วิธีนี้ไม่เป็นที่นิยมนัก เพราะต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทรงพลังมาก และมีโอกาสน้อยมากที่จะได้บิทคอยน์ เรียกได้ว่าไม่คุ้มกับทรัพยากรที่ลงทุนไป
    • การขุดแบบกลุ่ม (Pool Mining) วิธีนี้จะเป็นการเอาคอมพิวเตอร์ของเราไปร่วมกลุ่ม (Pool) ผ่านอินเตอร์เน็ตกับคนอื่น ๆ เช่น AntPool F2Pool BitFury และอื่น ๆ การขุดแบบนี้ทำให้เรามีโอกาสได้บิทคอยน์สูงมาก แต่รางวัลที่ได้ก็จะถูกนำมาแบ่งตามกำลังขุดของแต่ละคน ได้น้อย แต่ได้ชัวร์และได้เรื่อย ๆ ทำให้วิธีนี้เป็นที่นิยมอย่างมาก
  1. การขุดแบบคลาวด์ (Cloud Mining)

วิธีนี้ก็เป็นที่นิยมไม่แพ้กัน เหมาะสำหรับทั้งคนทุนน้อยและคนทุนหนา แต่ไม่อยากยุ่งวุ่นวายกับการประกอบและดูแลรักษาคอมพิวเตอร์ เพราะแทนที่เราจะประกอบคอมขึ้นมาขุดเหมือนแบบแรก เราใช้วิธีซื้อกำลังขุดจากผู้ที่ให้บริการที่ทำฟาร์มบิทคอยน์ เช่น Genesis-Mining หรือ HashBx ของคนไทย ก็จะมีแพคเกจกำลังขุดให้เราเลือกซื้อ เป็นการซื้อขาด จ่ายครั้งเดียวแล้วจบ แต่บิทคอยน์ที่ได้ก็จะถูกหักบางส่วนเพื่อเป็นค่าดูแลรักษาระบบ ส่วนที่เหลือก็รอให้ทุนค่าแพคเกจคืน แล้วก็รับผลกำไร

สรุปง่าย ๆ คือ การขุดแบบเดี่ยว (Solo Mining) ไม่เป็นที่นิยม เพราะมีโอกาสได้บิทคอยน์ยากและต้องคอมพิวเตอร์ที่มีพลังประมวลผลสูงมาก ในขณะที่การขุดแบบกลุ่ม (Pool Mining) สามารถใช้คอมพิวเตอร์ระดับกลาง-สูง เพื่อขุดแล้วรับส่วนแบ่งตามกำลังขุดของแต่ละคน ส่วนการขุดแบบคลาวด์ (Cloud Mining) ถึงแม้จะสบายที่สุด เพราะจ่ายครั้งเดียวจบ ไม่ต้องลงทุนประกอบคอมและเสียค่าไฟ แต่บิทคอยน์ที่ได้จะถูกหักไปพอสมควร

เอาเป็นว่า ถ้าอยากลงทุนขุดบิทคอยน์ ก็เลือกตามความเหมาะสมของเราและความเสี่ยงที่เรารับได้ ส่วนระยะเวลาในการเรียกทุนคืนก็ขึ้นอยู่กับความผันผวนของราคาบิทคอยน์ในตลาด ยิ่งราคาสูงก็ยิ่งคืนทุนเร็ว แต่ถ้าราคาลงก็ยืดเวลาเข้าไปอีก สำหรับการขุดแบบเดี่ยว ต้องขออภัยเพราะไม่มีข้อมูล แต่สำหรับการขุดแบบกลุ่มจะใช้เวลาโดยประมาณ 6-8 เดือน ในขณะที่การขุดแบบคลาวด์ขึ้นอยู่กับแพคเกจกำลังขุดที่เราซื้อและส่วนแบ่งหลังจากหักค่าบำรุงรักษา

  • “น่าสนใจมาก แล้วมีอะไรอยากจะบอกอีกไหม?”

อยากจะบอกด้วยความเป็นห่วงว่า การลงทุนมีความเสี่ยง อยากให้ศึกษาให้รอบคอบก่อนที่จะลงมือทำจริง ไม่ว่าจะเป็นการขุดประเภทไหนก็ตาม ประกอบกับการคำนึงถึงกรณีที่แย่ที่สุด (Worst Case) ว่าเรารับลิมิตของมันได้แค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของราคาบิทคอยน์ ระยะเวลาเรียกทุนคืน หรือ ความเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ เป็นต้น

สำหรับเนื้อหาของบทความก็มีเพียงเท่านี้ จุดประสงค์ของเราคืออยากให้ทุกคนเข้าใจความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการขุดบิทคอยน์ ส่วนคนที่อยากได้ความรู้เชิงลึก เราอยากให้ท่านศึกษาด้วยตนเองจากเว็บไซต์ต่างประเทศ หรือฟังบรรยายจากเซียนทางด้านการขุดบิทคอยน์โดยเฉพาะ

ตอนต่อไปเราจะพูดถึงสกุลเงินดิจิตอลอื่น ซึ่งก็คือ อีเธอเรียม (Ethereum) พระรองที่รอวันเป็นพระเอก เพื่อดูว่ามันแตกต่างจากบิทคอยน์อย่างไร มีความพิเศษอะไรบ้าง รวมถึงอนาคตของเงินสกุลนี้ด้วย อย่าลืมติดตามกันนะ

แนะนำเว็บไซต์

เช็คราคาบิทคอยน์และเงินดิจิตอลสกุลอื่น
https://bx.in.th/
กราฟอัตราความสำเร็จในการขุดบิทคอยน์ของแต่ละ Pool
https://bitcoinchain.com/pools
เว็บที่ขายแพคเกจกำลังขุด
https://www.genesis-mining.com/pricing
https://hashbx.in.th/home

_______________________________________________________________________________

อ่านซีรี่ย์ทั้งหมด
EP.1 บิทคอยน์คืออะไร?
EP.2 บล็อกเชนคืออะไร?
EP.3 การขุดบิทคอยน์คืออะไร?
EP.4 อีเธอเรียมคืออะไร?

 

 

 

 

Recent Posts
Contact Us

We're not around right now. But you can send us an email and we'll get back to you, asap.

Start typing and press Enter to search