ซีรี่ย์สตาร์ทอัพตอนที่แล้ว เราทำความรู้จักกับสตาร์ทอัพกันไปว่า สตาร์ทอัพคืออะไร มีคุณสมบัติหรือองค์ประกอบอะไรบ้างที่ทำให้ธุรกิจนั้นเรียกว่าสตาร์ทอัพ สำหรับในตอนที่ 2 ที่ทุกคนกำลังอ่านอยู่นี้ เราจะพาไปรู้จักกับประเภทของสตาร์ทอัพหลัก ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันกัน เอาล่ะ..เริ่ม!

  1. ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการเงิน (FinTech)

In A Nutshell: สตาร์ทอัพด้าน FinTech คือ ธุรกิจอะไรก็ตามที่ทำให้เรื่องการเงินของเรามันสะดวกขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็แค่นั้นเอง

สตาร์ทอัพประเภท FinTech จะเป็นธุรกิจนำเทคโนโลยีมาบูรณาการกับระบบทางการเงิน เพื่อทำให้ผู้ใช้งานสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้สะดวกขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การจ่ายเงินออนไลน์ผ่าน PayPal, mPay, หรือ LINE Pay เป็นต้น หรือเป็นสตาร์ทอัพที่ตัดคนกลางอย่างธนาคารออกไป เช่น สตาร์ทอัพเกี่ยวกับการโอนเงินระหว่างประเทศที่ผู้ใช้งานจะเสียค่าธรรมเนียมถูกกว่าธนาคาร หรือสตาร์ทอัพเกี่ยวกับสินเชื่อที่นำผู้ยืมกับผู้ให้ยืมมาเจอกัน ผู้ยืมสามารถกู้เงินจากผู้ที่ให้ยืมได้โดยตรงโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยมหาโหดกับธนาคาร ในขณะเดียวกันผู้ที่ให้ยืมก็ได้ดอกเบี้ยสูงกว่าการฝากเงินทั่วไป หรือสตาร์ทอัพที่ช่วยเหลือด้านการลงทุน เป็นต้น

ตัวอย่างสตาร์ทอัพด้าน FinTech ของประเทศไทย: CreditMe, RubBUDD, Dreamaker Equity, Primo, PeerPower, Finnomena

  1. ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านอสังหาริมทรัพย์ (PropTech)

In A Nutshell: PropTech คือธุรกิจที่อำนวยความสะดวกในการอยู่อาศัยหรือในการบริหารจัดการบ้าน คอนโด หอพัก ที่ดิน นั่นแหลฮะท่านผู้ชมครับ

PropTech คือ สตาร์ทอัพที่ดึงเอาเทคโนโลยีเข้ามาทำงานร่วมกับอสังหาริมทรัพย์ สตาร์ทอัพแนวนี้มีตั้งแต่การเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็น การทำระบบเปิด/ปิดไฟอัตโนมัติ ระบบควบคุมอุณหภูมิห้อง หรือระบบความปลอดภัย เป็นต้น หรือทำเกี่ยวกับระบบการจัดการหอพัก ที่ช่วยลดต้นทุนการจ้างคนดูแลหอ หรือทำเกี่ยวกับการขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียนายหน้า เป็นต้น

ตัวอย่างสตาร์ทอัพด้าน PropTech ของประเทศไทย: CozyBid, ZmyHome, FindYourSpace, Nabour

  1. ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการศึกษา (EdTech)

In A Nutshell: EdTech เป็นสตาร์ทอัพที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเพิ่มพูนทักษะความรู้ของตนเองได้ง่ายและดียิ่งขึ้นผ่านแอพพลิเคชั่น

สตาร์ทอัพด้าน EdTech จะเป็นสื่อการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่ช่วยยกระดับการเรียนรู้ให้กับเยาวชนหรือบุคคลทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น แอพฯอ่านหนังสือออนไลน์ แอพฯสอนภาษาอังกฤษที่ใส่ความเป็นเกมลงไป ทำให้ผู้ใช้งานได้ทั้งความรู้ภาษาอังกฤษและความสนุกจากการเล่นเกม หรือแอพฯฝึกการพูดในที่สาธารณะ เพียงแค่เราอัดเสียงที่เราฝึกพูดเข้าไปในแอพ แอพก็จะประมวลผลลักษณะการพูดของเรา แล้วให้คำแนะนำ หรือแอพฯที่เป็นช่องทางให้เราเข้าไปหาความรู้จากคอร์สต่าง ๆ โดยมีทั้งฟรีและเสียเงิน

ตัวอย่างสตาร์ทอัพด้าน EdTech ของประเทศไทย: Ookbee, SkillLane, TaamKru, Globish

  1. ธุรกิจสตาร์ทอัพที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน การบริการส่วนบุคคล การท่องเที่ยว และความบันเทิง (Lifestyle : Personal service, TravelTech & Entertainment)

In A Nutshell: สตาร์ทอัพประเภทนี้ เป็นสตาร์ทอัพที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์และพัฒนาคุณภาพชีวิตประจำวันของคนทั่วไปนั่นแหละ

สตาร์ทอัพประเภทดังกล่าว เป็นธุรกิจที่ทำขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาจุกจิกในชีวิตประจำวัน และทำให้เราใช้ชีวิตได้ชิลมากขึ้น สตาร์ทอัพด้านการบริการส่วนบุคคลที่เห็นภาพได้ชัดที่สุด ก็คือ อูเบอร์ (Uber) เราไม่ต้องหัวเสียกับการเรียกแท็กซี่แล้วไม่จอด โดนโกงมิเตอร์ และอื่น ๆ เพียงแค่เรียกผ่านแอพ คนขับก็มารับถึงที่ รถก็นั่งสบายด้วย

ด้านการท่องเที่ยว ก็เช่น Airbnb ที่เราสามารถจองห้องพักโดยไม่ต้องผ่านเอเจนซี่ ทำให้เราได้ที่พักที่สมราคาและไม่เสียค่าผ่านกลางให้กับเอเจนซี่ด้วย

ส่วนด้านความบันเทิง ก็ได้แก่ สตาร์ทอัพที่นำเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) เข้ามาผสมผสานกับการเล่นเกม หรือการชมภาพยนตร์ หรือการทำ VPN ให้สามารถเล่นเกมได้ลื่นไหลมากขึ้น เป็นต้น

ตัวอย่างสตาร์ทอัพด้าน Lifestyle ของประเทศไทย: Penguint, Tuk Tuk Hop, Haup, Share Ways, Pingbooster

  1. ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการเข้าถึงสินค้าและโลจิสติกส์ (E-Commerce & Logistics)

In A Nutshell: สตาร์ทอัพด้าน E-Commerce ทำให้ระบบซื้อขายของออนไลน์มันสมาร์ทยิ่งขึ้น ในขณะที่สตาร์ทอัพด้านโลจิสติกส์ช่วยอุดช่องว่างที่ระบบโลจิสติกส์ในปัจจุบันไม่สามารถทำได้หรือให้บริการได้

สตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับ E-Commerce ส่วนใหญ่แล้วจะเกี่ยวกับการขายของออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ หรือแพลตฟอร์มอื่น เช่น แอพพลิเคชั่นหรือเฟสบุ๊ก เป็นต้น แต่ไม่ได้มีเพียงแค่นั้น ยังมีสตาร์ทอัพที่ให้บริการทำระบบ E-Commerce ให้กับร้านค้า รวมถึงช่วยดูแลเรื่องการบริหารจัดการอีกด้วย ทำให้เจ้าของกิจการที่ไม่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีมากนัก สามารถใช้งานระบบ E-Commerce ได้เช่นกัน ซึ่งช่วยลดต้นทุนและเวลาไปได้อย่างมาก

ส่วนสตาร์ทอัพด้านโลจิสติกส์ โดยมากมักจะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างของระบบโลจิสติกส์หลัก ยกตัวอย่างเช่น Skootar สตาร์ทอัพแมสเซ็นเจอร์ของไทย ที่มีบริการส่งของกทม.- ปริมณฑลภายใน 1 วัน มีบริการเก็บเช็ค-วางบิล และอื่น ๆ ที่ไปรษณีย์ไม่สามารถให้บริการได้

ตัวอย่างสตาร์ทอัพด้าน E-Commerce & Logistics ของประเทศไทย: Commerzy, Nexts, Skootar, Shippop, Zort

  1. ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านสุขภาพ (HealthTech)

In A Nutshell: HealthTech เป็นธุรกิจสตาร์ทอัพที่ลด Gap ระหว่างแพทย์กับคนทั่วไป ทำให้เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องง่าย หรือพัฒนาระบบการบริหารจัดการของสถาบันทางการแพทย์

HealthTech เป็นสตาร์ทอัพที่นำความรู้ทางการแพทย์มาประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยี มีทั้งสตาร์ทอัพที่ช่วยให้เราเข้าถึงแพทย์ได้แบบออนไลน์ ทำให้เราสามารถปรึกษากับแพทย์ได้โดยตรงและมีความปลอดภัย ไม่ต้องเสี่ยงกับข้อมูลเท็จตามเว็บ หรือพัฒนา Gadget ที่ชี้วัดสุขภาพของผู้ใช้งานได้อย่างแม่นยำ ผู้ใช้งานสามารถรับรู้ได้ว่าสุขภาพของตนเป็นอย่างไร มีอะไรผิดปกติไหม หากมีปัญหาก็สามารถไปหาแพทย์ได้ทันท่วงที หรือแอพพลิเคชั่นที่คอยโค้ชชิ่งผู้ใช้งานในเรื่องฟิตเนส ในระดับใหญ่ขึ้นมาหน่อยก็จะเป็นการพัฒนาระบบการบริหารการจัดการโรงพยาบาลและคลินิก เป็นต้น

ตัวอย่างสตาร์ทอัพด้าน HealthTech ของประเทศไทย: หาหมอ.com, HexSense, MEiD, PharmaSafe

  1. ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการเกษตรและอาหาร (AgriTech & FoodTech)

In A Nutshell: AgriTech เป็นธุรกิจสตาร์ทอัพที่นำเอาเทคโนโลยีเข้าไปพัฒนาศักยภาพในการทำงานของเกษตรกร ส่วน FoodTech เป็นการอำนวยความสะดวกและเพิ่มช่องทางให้เราเอาอาหารเข้าปากได้ง่ายและเร็วขึ้น

สตาร์ทอัพด้าน AgriTech เป็นสตาร์ทอัพที่นำองค์ความรู้ทางด้านเกษตรกรรมและวิทยาศาสตร์มาประยุกต์กับเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยให้การทำงานของเกษตรกรมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มผลผลิต การดูแลรักษาน้ำและดิน การควบคุมโรคและศัตรูพืช และอื่น ๆ อีกมากมาย สตาร์ทอัพประเภทนี้จะช่วยผลักเกษตรกรออกจากกลุ่มอาชีพที่มีรายได้ระดับล่างไปสู่การมีรายได้ที่ยั่งยืนมากขึ้น

ในส่วนของสตาร์ทอัพด้าน FoodTech เป็นสตาร์ทอัพที่ให้บริการด้านอาหาร มีหลากหลายรูปแบบมาก ตั้งแต่การทำเรื่องเกี่ยวกับการส่งวัตถุดิบ ไปจนถึงบริการส่งอาหารพร้อมรับประทานถึงที่ หรืออาจจะไม่ได้เกี่ยวกับอาหารโดยตรง แต่เป็นแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้งานสามารถจองโต๊ะในร้านอาหาร หรือต่อคิวผ่านแอพพลิเคชั่น

ตัวอย่างสตาร์ทอัพด้าน AgriTech & FoodTech ของประเทศไทย: Smart Think, Len-Din, Len-Nam, BioBonics, QueQ, FoodPanda

  1. ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรม (IndustryTech)

In A Nutshell: IndustryTech คือ สตาร์ทอัพที่เข้าไปช่วยบริหารจัดการอุตสาหกรรมแต่ละภาค หรือนำนวัตกรรมใหม่ ๆ ไปทำงานแทนมนุษย์ในภารกิจต่าง ๆ ของอุตสาหกรรม

IndustryTech เป็นธุรกิจสตาร์ทอัพมุ่งสนับสนุนอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาหุ่นยนต์จัดการฟาร์มอัจฉริยะ หรือนวัตกรรม UAV (Unmanned Aerial Vehicle) เช่น โดรน เพื่อใช้ในงานสำรวจพื่นที่ที่เหมาะสมในการทำอุตสาหกรรมประเภทนั้น ๆ หรือเพื่อใช้ในการติดตามและตรวจสอบการทำงานในพื้นที่ของอุตสากรรมดังกล่าว เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึงซอฟต์แวร์หรือแอพพลิเคชั่นที่คอยเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลด้วย

กล่าวโดยสรุป

อันที่จริงแล้วประเภทของสตาร์ทอัพที่เรากล่าวมาเป็นเพียงการจำแนกประเภทหลัก ๆ ทั้งหมด8 ประเภทเท่านั้น ยังมีสตาร์ทอัพอีกหลากหลายรูปแบบที่นอกเหนือไปจากที่กล่าวมา หากจินตนาการของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด ประเภทของสตาร์ทอัพก็คงเกิดขึ้นใหม่ได้เรื่อย ๆ เช่นเดียวกัน

หวังว่าทุกคนคงพอเข้าใจแล้วว่าสตาร์ทอัพแต่ละประเภทมีรูปแบบการทำงานอย่างไรและมีจุดมุ่งหมายอย่างไร ในตอนถัดไปเราจะพาทุกคนไปสัมผัส Silicon Valley ดินแดนอันเป็นต้นกำเนิดของสตาร์ทอัพของโลกใบนี้ อย่าลืมติดตามกันนะ

———————————-
EP.1 สตาร์ทอัพคืออะไร?
EP.2 ประเภทของสตาร์ทอัพ
EP.3 รู้จักกับซิลิคอนวัลเลย์
EP.4 ได้เวลาเริ่มต้นทำสตาร์ทอัพ

Recent Posts
Contact Us

We're not around right now. But you can send us an email and we'll get back to you, asap.

Start typing and press Enter to search